เชื่อว่าหลายๆคนคงกังวลไม่น้อยเป็นแน่ เมื่อได้ยินทันตแพทย์วินิจฉัยให้เพื่อนๆ ทำการรักษาฟันโดยการอุดฟัน เมื่อได้ยินแบบนั้นแล้วเพื่อนๆคงมีคำถามในใจอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการอุดฟันคืออะไร อุดฟันช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง อุดฟันเจ็บไหมและคำถามอื่นอีกมากมาย เราเข้าใจในความกังวลนี้เป็นอย่างดี วันนี้เราจึงเอาข้อมูลมาแชร์ให้เพื่อนๆเข้าใจกันมากขึ้นจะได้คลายความกังวลกันไปได้บ้าง
การอุดฟันหรือ tooth filling ก็คือการรักษาอาการของฟันผุ ฟันเป็นรู ฟันแตก ฟันบิ่น ซึ่งอยู่ในระยะที่มีการทำลายเฉพาะถึงส่วนเนื้อฟัน การอุดฟันเป็นวิธีการรักษาฟันให้สามารถใช้งานได้และกลับมารูปทรงเดิม อีกทั้งยังช่วยป้องกันฟันผุเพิ่มขึ้นด้วยการปิดช่องทางที่แบคทีเรียสามารถเข้าไปได้
แต่เพื่อนๆรู้ไหมคะว่าการอุดฟันไม่ได้มีแค่แบบเดียวนะคะ ที่จริงแล้วการอุดฟันแบ่งได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
1. อุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม (Amalgam)
วัสดุอุดฟันให้สีโลหะ สมัยก่อนนิยมใช้ในการอุดฟันหลัง เช่น ฟันกราม เพราะมีจุดเด่นที่ความเเข็งเเรง ทนต่อเเรงบดเคี้ยวได้ดี ใช้งานได้นานถึง 10-15 ปี อย่างไรก็ตาม การอุดฟันด้วยวัสดุอุดโลหะต้องเสียเนื้อฟันมากกว่า เพราะต้องใช้พื้นที่ในการรองรับวัสดุมากกว่า มีสีไม่เหมือนฟันตามธรรมชาติ
2. อุดฟันด้วยวัสดุเรซินคอมโพสิต (Composite Resin)
ให้สีเหมือนฟันธรรมชาติ จึงนิยมใช้อุดบริเวณฟันหน้าเพื่อความสวยงาม ภายหลังมีการพัฒนาให้เรซินคอมโพสิตความเเข็งเเรงขึ้น จึงใช้อุดฟันหลังได้ด้วย อย่างไรก็ตามเรซินคอมโพสิตมีอายุการใช้งานน้อยกว่าอะมัลกัม มีความแข็งแรงน้อยกว่า จึงมีโอกาสเสี่ยงในการแตกของวัสดุได้มากกว่า มีวิธีการที่ซับซ้อนกว่า อีกทั้งยังมีราคาสูงกว่าด้วย
ทำไมต้องอุดฟัน
เพราะฟันมักมีความผิดปกติจนต้องทำการรักษาด้วยการอุดฟัน ต้องอุดเพื่อซ่อมแซมเนื้อฟัน การอุดฟันจะช่วยปิดช่องทางไม่ให้แบคทีเรียหรือเศษอาหารตกเข้าไปในโพรงฟัน จนเกิดอักเสบกับเนื้อฟันเพิ่มมากขึ้น นำมาซึ่งปัญหา เหงือกอักเสบ เป็นหนอง ฟันผุลามไปยังโพรงรากฟัน รากฟันเสื่อม ฟันล้ม สาเหตุที่มักทำให้ต้องมีการอุดฟันที่พบโดยทั่วไป ได้แก่
- ฟันผุ อาจเป็นผลมาจากการรับประทานอาหารรสหวาน แปรงฟันไม่สะอาด และการมีน้ำลายไปสะสมอยู่ที่ฟันมากเกินไป
- ฟันสึกหรือกร่อน จากการใช้งานอย่างหนัก หรือกัดอาหารเนื้อแข็งจนเนื้อฟันเสียหาย
- ฟันแตก หัก หรือบิ่น อาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ
- ฟันห่าง โดยเกิดจากการเรียงตัวที่ไม่เหมาะสมของซี่ฟัน หรืออาจเคยได้รับการอุดฟันมาก่อน แต่วัสดุอุดฟันเก่าชำรุด
นอกจากปัญหาต่างๆ ที่ทำให้ต้องอุดฟันแล้ว ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ เมื่อต้องการจัดฟัน ทันตแพทย์จะทำการ เคลียร์ช่องปากก่อนทำการจัดฟัน นั้นก็แปลว่าอาจจะมีกระบวนการอุดฟันเข้ามาเกี่ยวข้องก่อนเริ่มทำการจัดฟันก็เป็นได้ เนื่องจากว่าในระหว่างจัดฟันนั้น ถ้าพบว่ามีฟันผุต้องถอนฟันทิ้ง แผนการรักษาจะเปลี่ยนทันที งานจะยากขึ้น อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ใช้เวลาจัดฟันนานขึ้น
อุดฟันเจ็บมั้ย
การอุดฟันจะทำให้เพื่อนๆรู้สึกเสียวฟันหากต้องกรอฟัน ยิ่งฟันผุลึก ตำแหน่งใกล้กับโพรงประสาทฟันมากก็ยิ่งมีโอกาสเจ็บมาก เเต่ทั้งนี้ทันตแพทย์จะประเมินอาการคนไข้ เเละให้ยาชาป้องกันการเจ็บปวดหรือเสียวฟันที่อาจจะเกิดขึ้นค่ะ จึงไม่ต้องกังวลจนเกินไปค่ะ
อาการหลังอุดฟันเป็นอย่างไร
อาการหลังอุดฟันที่พบโดยส่วนใหญ่คืออาจมีอาการเสียวฟันได้ แต่อาการนี้สามารถหายได้เองในช่วง 1-2 สัปดาห์ และอีกอาการคืออาการปวดฟัน หากปวดมากสามารถทานยาระงับอาการปวดที่ทันตแพทย์ให้มาได้ แต่หากอาการไม่ทุเลาลงหรือมีอาการผิดปกติ จำเป็นต้องไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ
หลังอุดฟันแล้วเพื่อนๆ ควรทำความสะอาดฟันโดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ โดยเลือกใช้แปรงขนนุ่ม และยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคราบจุลินทรีย์สะสม จนเป็นสาเหตุของเหงือกอักเสบค่ะ อาจใช้น้ำยาบ้วนปาก เพื่อช่วยกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ในช่องปากและตามซอกฟันออก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่มีความแข็งมากๆ หรือกรุบกรอบมากในช่วงแรกก่อนเนื่องจากอาจทำให้วัสดุบิ่นแตกหรือหลุดได้
ถ้าไม่อุดฟันจะมีปัญหาอะไร
เมื่อเกิดฟันผุแล้วไม่รักษา จะทำให้รูหรือโพรงลุกลาม กว้าง และลึกขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดอาการเสียวฟัน ปวดฟัน ฟันโยก เคี้ยวไม่ได้ เกิดฝี หรือหนองตามมา มีกลิ่นปาก มากไปกว่านั้นคืออาจทำไม่สามารถรักษาฟันไว้ได้ อาจจะต้องทำการถอนฟันทิ้งและทดแทนด้วยฟันปลอมนั้นเอง
การอุดฟันไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เป็นเพียงวิธีทางทันตกรรมที่ใช้เสริมเนื้อฟันที่สูญเสียไปให้กลับมาเต็มเหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ดีเนื้อฟันตามธรรมชาติถือเป็นวัสดุที่แข็งแรง ปลอดภัยที่สุดดังนั้น การหมั่นดูแลรักษาทำความสะอาดช่องปาก ควบคู่ไปกับการระมัดระวังการใช้งานฟัน รวมถึงการพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน จะช่วยลดโอกาสที่ทำให้ต้องอุดฟันได้มากเลยนะคะ