หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ ฟันคุด กันมาบ้าง แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าเจ้าฟันคุดนี้ต่างจากฟันอื่นๆอย่างไร มีประโยชน์อยู่บ้างหรือไม่ และทำไมมักเป็นปัญหาอยู่บ่อยๆจนทำให้เราได้เห็นคนเข้ารับการผ่าฟันคุดกันเป็นประจำ
ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาได้ในตำแหน่งที่ปกติ หรือโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วนเท่านั้นเนื่องจากมีฟัน เหงือก หรือกระดูกขวางอยู่ ฟันคุดจะขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่นๆ ทำให้ไม่มีช่องว่างเพื่อที่จะโผล่ขึ้นมาได้ ฟันที่พบว่าเป็นฟันคุดใหม่ ๆ ก็คือ ฟันกรามใหญ่แท้ซี่ที่สามล่าง (mandibular third molar) ซึ่งโดยปกติฟันซี่นี้จะขึ้นมาในปากในช่วงอายุ 17-25 ปี และไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องมีฟันคุดเสมอไป
อาการฟันคุดจะมีลักษณะอย่างไร
เมื่อเพื่อนๆตรวจเจอฟันคุด ทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าฟันคุดนั้นออกในทุกกรณี เพราะการมีฟันคุดจะทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้น รวมไปถึงปัญหาต่างๆในช่องปากได้ เมื่อทำการวินิจฉัยแล้วว่าจำเป็นต้องผ่าฟันคุดออก ทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ในการถอนฟันคุดออกเพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บปวด
หลังจากนั้นทันตแพทย์จะเย็บแผลด้วยไหมเย็บเพื่อให้แผลสามารถหายอย่างดี ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความยากง่ายของฟันคุด โดยเฉลี่ยอาจมีอาการเจ็บอยู่บ้างประมาณ 2-3 วัน แต่ก็อาจจะมีอาการน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ได้
ปวดฟันคุดเหงือกบวม ผ่าฟันคุดได้ไหม
จริงๆแล้วปวดฟันคุด เหงือกบวมก็สามารถทำการผ่าฟันคุดได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเหงือกบวมจากฟันคุดจะมีการติดเชื้อที่ลุกลามไปบริเวณใบหน้า ศีรษะ ลำคอ หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการลุกลามของเชื้อเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือการเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด คือ การผ่าฟันคุดร่วมกับการได้รับยาฆ่าเชื้อ
มีฟันคุดแต่ไม่ผ่าได้ไหม
หากไม่ต้องการผ่าฟันคุดออก ทันตแพทย์จะขอติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของฟันคุด แต่โดยทั่วไปควรผ่าออกทุกซี่ที่มีอยู่ในช่องปาก โดยเฉพาะฟันซี่ที่ฟันคุดโผล่ขึ้นมาในช่องปากจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย สำหรับบางคน ที่ฝังอยู่ในขากรรไกร มันอาจจะไม่มีอาการใดๆเลยก็ได้ แต่บางคนฟันคุดหรือฟันฝังนั้นอาจจะกลายเป็นถุงน้ำ (Cyst) หรือมะเร็ง กัดกินกระดูกขากรรไกรได้ ซึ่งอันตรายมาก ดังนั้นเอาออกจะดีกว่า
จัดฟันจำเป็นต้องถอนฟันคุดออกหรือไม่
หากจัดฟันในช่วงอายุน้อยๆ ระหว่าง 10-14 ปี ยังไม่จำเป็นต้องเอาฟันคุดออก หากไม่ต้องเคลื่อนฟันกรามไปด้านหลังตรงตำแหน่งที่มีฟันคุดและยังอยู่ในกระดูกทั้งซี่ แข็งแรงและไม่ส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่น ส่วนผู้ที่อายุมากกว่า 25 ปี ที่ต้องการจัดฟันและตรวจพบว่ามีฟันคุด อาจต้องเอาออกก่อนจัดฟัน ซึ่งควรปรึกษาทันตแพทย์จัดฟันที่ทำการรักษาให้ บางครั้งอาจจำเป็นต้องกำจัดฟันคุดออกจากปากไปเสียก่อนเพื่อการจัดฟันที่ง่าย ไร้อุปสรรคมากขึ้น
อย่างไรก็ดีการจัดฟันจำเป็นต้องถอนฟันคุดออกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคน เพราะบางกรณีทันตแพทย์ก็อาจวางแผนเอาฟันคุดมาใช้ในประโยชน์ในการจัดฟันได้ หรืออาจจะทำให้ฟันคุดขึ้นได้ง่ายขึ้น ทำให้ง่ายต่อการผ่าออก
หลังผ่าฟันคุดเป็นอย่างไร
หลังผ่าฟันคุดจะมีอาการปวดและบวมที่แก้มตรงบริเวณที่ผ่า ซึ่งจะบวมเป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน แล้วค่อยๆยุบออกไปเอง ความเจ็บปวดก็จะหายไปตามลำดับ ส่วนแผลผ่าฟันคุดจะค่อยๆหายเองเช่นกัน ส่วนมากแผลจะหายสนิทภายใน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของคนไข้ด้วย
ฟันคุดเกิดได้กับทุกคน โดยส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่ามีฟันคุดหรือไม่ สามารถตรวจเอกซเรย์หาตำแหน่งของฟันคุดได้เพื่อวางแผนการรักษากับทันตแพทย์ได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการปวด ส่งผลเสียในภายหลัง การผ่าฟันคุดออก ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัว หากเปรียบเทียบกับโทษที่อาจเกิดจากฟันคุด ดังนั้นอย่าละเลยกับการตรวจและรักษาอย่างถูกวิธีนะคะ