หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันฟันผุคือการเคลือบฟลูออไรด์ แน่นอนว่าประโยชน์ของฟลูออไรด์นั้นมีมากมายและเป็นที่ยอมรับโดยทันตแพทย์ทั่วโลก มักถูกนำมาเป็นส่วนผสมสำคัญในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและฟันอยู่บ่อยๆ มาดูกันค่ะว่าเราจะหาฟลูออไรด์ได้จากที่ไหนบ้าง และการเคลือบฟลูออไรด์จำเป็นจะต้องทำหรือไม่
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก ฟลูออไรด์ (Fluoride) กันก่อน จริงๆแล้วฟลูออไรด์ก็คือแร่ธาตุชนิดนึง มาจากเกลือของธาตุฟลูออรีน (Fluorine) พบได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ดิน หินแร่ มีสีม่วงอ่อนปนขาว และยังเป็นเเร่ธาตุที่พบในอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ปลา ชา อาหารทะเล และผักบางชนิด (โดยเฉพาะ กะหล่ำปลี แครอท มะละกอ) นอกจากนี้ยังมีฟลูออไรด์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในทางทันตกรรมเพื่อป้องกันฟันผุอีกด้วย จะอยู่ในรูปของยาสีฟัน ยาเม็ด ยาน้ำ วิตามิน และน้ำยาบ้วนปาก
ฟลูออไรด์แบ่งได้ 2 แบบ
แปรงสีฟันทั่วไปที่พบบ่อยและเป็นที่นิยมมักทำจากไนล่อน (Nylon) หรือพีบีที (Polybutylene Terephthalate) ราคาไม่แพงนัก มีให้เลือกหลายแบบ หลายคุณภาพ หาซื้อง่ายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป
1.ฟลูออไรด์แบบรับประทาน
คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้ว่าจริงๆแล้วในน้ำดื่มหรือน้ำปะปาก็มีฟลูออไรด์อยู่เหมือนกัน เพียงแต่มีอยู่ในปริมาณที่ไม่มากนัก ดังนั้นจึงมีการทำฟลูออไรด์ชนิดรับประทานได้ในรูปแบบอื่นๆ ออกมาเพื่อให้สะดวกมากขึ้น เช่น ฟลูออไรด์แบบเม็ดและฟลูออไรด์แบบน้ำ
2.ฟลูออไรด์แบบเคลือบผิวฟัน
ฟลูออไรด์ที่เคลือบผิวฟันจะมีทั้งแบบที่เราสามารถหาซื้อใช้ได้เองตามท้องตลาดเช่น ฟลูออไรด์ที่ผสมในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์พวกนี้จะมีฟลูออไรด์อยู่ที่ 1,000-1,500 ส่วนในล้านส่วน และอีกแบบคือการใช้ฟลูออไรต์เคลือบผิวฟันโดยทันตแพทย์ เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
ทันตแพทย์จะเลือกใช้ฟลูออไรด์เคลือบผิวฟันอยู่ 3 ประเภท คือ
1. ฟลูออไรด์เจล (fluoride gel)
วิธีนี้เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยสามารถป้องกันฟันผุในฟันแท้ได้ประมาณ 28% ในฟันน้ำนม 20% ทันตแพทย์จะใส่ฟลูออไรด์เจลลงในถาดและครอบฟันบนและล่าง ให้กัดไว้เป็นเวลา 4 นาที
2. ฟลูออไรด์วานิช (fluoride varnish)
วิธีนี้เหมาะสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี และผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูงหรือคนที่มีจุดสีขาวเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งวิธีนี้จะสามารถป้องกันฟันผุในฟันแท้ได้ 46% และในฟันน้ำนม 33% ทันตแพทย์จะใช้พู่กันทาฟลูออไรด์วานิชบางๆ บนผิวฟัน
3. ซิลเวอร์ไดเอมีนฟลูออไรด์ (silver diamine fluoride : SDF)
วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่มีฟันผุหลายตำแหน่งและต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยจะใช้สารละลายทาบนผิวฟันที่ผุแต่ไม่ทะลุโพรงประสาทฟัน
ประโยชน์ของฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์มีผลในการป้องกันโรคฟันผุ ตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้นโดยที่ฟลูออไรด์จะเข้าสู่ร่างกายจากการทานอาหาร และเมื่อฟันขึ้นแล้ว ฟลูออไรด์จะสัมผัสผิวฟันจะมีสามารถป้องกันโรคฟันผุได้ ดังนี้
- ช่วยชะลอการย่อยสลายของแร่ธาตุและเสริมความแข็งแรงให้แร่ธาตุบนผิวเคลือบฟัน
- ช่วยเสริมความต้านทานต่อกรดทำให้สารเคลือบฟันของฟันแท้ที่ขึ้นมาแล้วแข็งขึ้น
- ช่วยหยุดการทำงานของเชื้อจุลินทรีย์หลังมื้ออาหาร ขัดขวางการย่อยอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลที่เป็นสาเหตุของฟันผุได้
ฟลูออไรด์ปลอดภัยหรือไม่?
นอกจากจะมั่นใจได้แล้วว่าการใช้ฟลูออไรด์ไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย ฟลูออไรด์ยังเป็นสารที่มีประสิทธิภาพมาก แต่ต้องใช้งานอย่างเหมาะสมพอดี เพราะหากได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน ซึ่งส่วนมากมักจะเกิดในเด็กที่รับฟลูออไรด์มากเกินไปเป็นระยะเวลานาน จะมีภาวะฟันตกกระจะมีจุดหรือเส้นสีขาวบนผิวฟัน และนั้นเองทำให้เราต้องแนะนำเด็กๅในระหว่างที่แปรงฟันเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ จะบ้วนยาสีฟันทิ้งเมื่อแปรงฟันเสร็จ อีกทั้งควรเก็บฟลูออไรด์แบบเม็ดให้พ้นมือเด็กด้วย
ก่อนจัดฟันต้องเคลือบฟลูออไรด์หรือไม่?
โดยปกติแล้วก่อนจัดฟันทุกประเภททันตแพทย์จะต้องทำการเคลียร์ช่องปากก่อนอยู่แล้ว ซึ่งนั้นก็หมายถึงว่าทันตแพทย์จะช่วยทำความสะอาดฟันโดยการขูดหินปูนและเคลือบฟลูออไรด์ให้โดยปริยาย และหากใครที่จัดฟันแบบใสละก็ ยังสามารถเข้ารับการเคลือบฟลูออไรด์ได้ในขณะจัดฟันอีกด้วย แต่ทั้งนี้จะต้องทำการเคลือบฟลูออไรด์บ่อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของทันตแพทย์
สุดท้ายนี้ทุกคนคนควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันเป็นประจำทุก 3 หรือ 6 เดือน โดยเฉพาะเด็กและคนที่มีรอยผุหรือจุดสีขาวควรตรวจฟันอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้การดูเเลความสะอาดในช่องปากและฟันถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง ใช้น้ำยาบ้วนปากและยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพปากและฟันที่ดีและลดความเสี่ยงอาการฟันผุได้แล้ว